โควิดก็ต้องกลัว ฝนมาก็ต้องระวังไข้เลือดออก หากมี 4 อาการนี้ควรรีบพบหมอ

ที่มาจาก :ไทยรัฐ
โควิด-19 ยังมีการระบาดแม้ตัวเลขของผู้ติดเชื้อลดลงแต่ก็ไว้ใจไม่ได้ ในขณะที่ โรคไข้เลือดออก โรคประจำฤดูฝนกำลังกลับมาอีกครั้ง แนะหากมี 4 อาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านกำลังจะเข้าสู่ฤดูฝน บางพื้นที่ฝนตก มีน้ำขังในภาชนะ เศษวัสดุ จานรองต้นไม้ ขยะ ยางรถยนต์เก่า ที่อาจมีไข่ยุงลายแห้งติดอยู่ก่อนแล้วหลายเดือนจะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายเมื่อได้รับน้ำ เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ซึ่งในปีนี้ถึงแม้จะมีจำนวนผู้ป่วยน้อยกว่าปี 2562 แต่ก็ยังพบผู้ป่วยมากกว่าปี 2560 และ 2561 และมีพื้นที่เสี่ยงสูงต่อการระบาดจำนวน 224 อำเภอ ใน 60 จังหวัด
ส่วนใหญ่เป็นอำเภอเมือง และอำเภอที่เป็นเมืองใหญ่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานศึกษา ศูนย์ราชการ สถานที่ท่องเที่ยว นิคมอุตสาหกรรม สำหรับกลุ่มเสี่ยงยังคงเป็นเด็กวัยเรียน 5-14 ปี แต่กลุ่มเสี่ยงที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นเป็นวัยผู้ใหญ่อายุ 35 ปีขึ้นไป
ทั้งนี้ จึงขอให้ประชาชนใช้โอกาสช่วงอยู่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 และป้องกันโรคไข้เลือดออกควบคู่ไปด้วย โดยทำความสะอาด กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายภายในบ้านและรอบบริเวณบ้านก่อนเข้าสู่ฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูกาลระบาดของไข้เลือดออก
นอกจากนี้ อากาศที่เย็นชื้น เชื้อโรคหลายชนิดจะมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น ประชาชนอาจป่วยจากโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ได้อีกด้วย จึงขอให้ประชาชนสวมหน้ากากผ้า ล้างมือบ่อยๆ กินร้อน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว หลีกเลี่ยงการไปในที่ที่คนเยอะๆ แต่หากหน้ากากผ้าชื้นหรือเปียกฝนขอให้เปลี่ยนผืนใหม่

 mosquito-insect-pestcontrol-lvmh

4 อาการต้องสังสัยจะเป็นไข้เลือดออก

1. ผู้ป่วยมีไข้สูง 2 วัน อาการไม่ดีขึ้น อ่อนเพลีย ซึมลง ปัสสาวะสีเข้ม
2. หรือผู้ป่วยมีไข้ลดแล้ว แต่อาการแย่ลง ซึมกว่าเดิม เบื่ออาหาร ขอให้สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออกและรีบพบแพทย์ทันที
3. ผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไป เช่น ปวดศีรษะ ตัวร้อน คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามตัว
4. สำหรับอาการเด่น คือ ไข้สูงเฉียบพลัน แต่ส่วนมากไม่มีน้ำมูก ไม่ไอ อาจมีจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายอยู่ตามแขน ขา ลำตัว และรักแร้
พบ 10 จังหวัดมีคนป่วยไข้เลือดออกสูงที่สุด
ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 14 เม.ย. 63 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม 8,746 ราย ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 599 ราย ผู้ป่วยเสียชีวิต 6 ราย และในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 10 อันดับแรก ดังนี้ ระยอง อ่างทอง นครราชสีมา พิจิตร ระนอง เลย ขอนแก่น พังงา สมุทรสงคราม และร้อยเอ็ด

ยากันยุง

ดูแลตัวเองช่วงมีโควิด-19 และไข้เลือดออก
นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกจะมาเร็วกว่าปกติ เพราะฝนเริ่มตกเร็วตั้งแต่หน้าร้อนและอีกปัจจัยคือ โรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้คนไทยอยู่บ้านมากขึ้น ขณะที่ยุงลายเป็นยุงบ้านการอยู่บ้านมากขึ้นก็เป็นอีกปัจจัยที่มีโอกาสถูกกัดและป่วยมากขึ้น
ทั้งนี้ โรคไข้เลือดออก เมื่อมาในช่วงที่มีโรคโควิด-19 ระบาด ก็ยังไม่น่ากังวลเรื่องการวินิจฉัยโรค เพราะแพทย์สามารถแยกได้พอสมควร เพราะไข้เลือดออกปกติเป็นในเด็กโต อายุระหว่าง 8-15 ปี ส่วนใหญ่มาด้วยไข้สูงมาก ไม่ค่อยมีอาการหวัด ไอ เด็กหลายคนป่วยหน้าแดงเพราะพิษไข้ ทำให้พอแยกได้ ส่วนโรคโควิด-19 จะเป็นทุกอายุและมักพบในหนุ่มสาว อาการส่วนใหญ่เหมือนไข้หวัด จึงต่างจากไข้เลือดออก
อย่างไรก็ตาม โรคไข้เลือดออกและโรคระบบทางเดินหายใจ จะพบการระบาดจำนวนมากในเดือน พ.ค. จึงเป็นความเสี่ยงที่คนป่วยจะเกิดการเจ็บป่วยซ้ำซ้อนซึ่งการป่วย 2 โรค ทำให้การรักษายากขึ้น อาการรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น ในยุคนี้เรารู้ว่าแต่ละโรคมีความเสี่ยงมาจากอะไรก็ป้องกันตัวเสีย โรคระบบทางเดินหายใจ ต้องหลีกเลี่ยงการไปพื้นที่ที่มีคนจำนวนมาก สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ กินอาหารร้อน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว ส่วนไข้เลือดออก ป้องกันได้ตั้งแต่ตอนนี้คือ ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทำความสะอาดบ้านเรือนอย่าให้มีมุมอับ และระวังตัวเองอย่าให้ยุงกัด